ดอกเบี้ยกับการกู้เงินของธุรกิจ

Spread the love

อัตราดอกเบี้ยเงินกู้มักกำหนดเป็นร้อยละต่อปี ซึ่งผู้ให้กู้ ได้แก่ ธนาคาร สถาบันทางการเงิน หรือเจ้าหนี้ เรียบเก็บจากผู้กู้เพื่อเป็นผลตอบแทน

จากการให้กู้เงิน อัตราดอกเบี้ยเงินกู้มีหลายประเภท หลายอัตรา ขึ้นอยู่กับประเภทของเงินกู้หรือประเภทของสินเชื่อ

ดอกเบี้ยเงินกู้แบบคงที่และแบบลอยตัว

อัตราดอกเบี้ยเงินกู้แบบคงที่ (Fixed Rate) หมายถึง อัตราดอกเบี้ยที่กำหนดไว้เป็นตัวเลขเฉพาะ ไม่มีการปรับเพิ่มขึ้นหรือลดลง โดยจะกำหนดเป็นอัตราคงที่ตลอดอายุสัญญาเงินกู้หรือในช่วงเวลาที่กำหนด เช่น กำหนดให้ชำระดอกเบี้ยร้อยละ 5 ต่อปี เป็นเวลา 1 ปี ซึ่งอัตราดอกเบี้ยแบบคงที่นี้จะไม่มีการปรับตามต้นทุนของธนาคาร

อัตราดอกเบี้ยเงินกู้แบบลอยตัว (Floating Rate) หมายถึง อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ที่เปลี่ยนแปลงไปตามต้นทุนของธนาคาร
ซึ่งธนาคารจะประกาศออกมาเป็นระยะ ๆ โดยจะมีการปรับอัตราดอกเบี้ยนี้ตามสภาวะธุรกิจ อัตราดอกเบี้ยอ้างอิงที่คุ้นเคยกัน
ได้แก่ MLR MOR MRR

MLR (Minimum Loan Rate) หมายถึง อัตราดอกเบี้ยที่ธนาคารพาณิชย์เรียกเก็บจากลูกค้ารายใหญ่ชั้นดี
เช่น เป็นบริษัทขนาดใหญ่ มีประวัติทางการเงินดี มีหลักทรัพย์ค้ำประกันเพียงพอ ส่วนใหญ่ใช้กับเงินกู้ระยะยาว
ที่มีกำหนดระยะเวลาที่แน่นอน เช่น สินเชื่อสำหรับการประกอบธุรกิจ

MOR (Minimum Overdraft Rate) หมายถึง อัตราดอกเบี้ยที่ธนาคารพาณิชย์เรียกเก็บจากลูกค้ารายใหญ่ชั้นดี
ประเภทวงเงินเบิกเกินบัญชี หรือ Current Account หรือการเบิกเงินเกินบัญชีด้วยเช็คของกิจการ

MRR (Minimum Retail Rate) หมายถึง อัตราดอกเบี้ยที่ธนาคารพาณิชย์เรียกเก็บจากลูกค้ารายย่อยชั้นดี
เช่น สินเชื่อส่วนบุคคล สินเชื่อที่อยู่อาศัย

ทั้งนี้ ธนาคารอาจกำหนดอัตราดอกเบี้ยที่เรียกเก็บสำหรับสินเชื่อประเภทต่าง ๆ โดยบวกหรือลดอัตราดอกเบี้ย
เมื่อเทียบกับอัตราดอกเบี้ยอ้างอิง เช่น

ถ้าปัจจุบันอัตราดอกเบี้ยอ้างอิง มีดังนี้

  • MLR = 7%
  • MOR =7.25%
  • MRR = 7.50%

ถ้าธนาคารกำหนดเงื่อนไขการกู้เงินระยะยาวของธุรกิจเป็น MLR-2% หมายความว่าในช่วงเวลานี้ ธุรกิจจะมีการจ่ายดอกเบี้ยในอัตรา 5% (7%-2%)

นอกจากนี้ เราอาจพบว่าในบางกรณี เช่น อัตราดอกเบี้ยผ่อนบ้าน จะกำหนดอัตราดอกเบี้ยคงที่บางส่วน และอัตราดอกเบี้ยอ้างอิงบวกลบ เช่น
ธนาคารให้อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ซื้อบ้าน

  • ปีแรก 2% ต่อปี
  • ปีที่ 2-3 MRR-0.50%
  • หลังจากปีที่ 3 เป็นต้นไป คิดในอัตรา MRR

ดังนั้นเมื่อผู้กู้พิจารณาเงื่อนไขอัตราดอกเบี้ยจะต้องพิจารณาอัตราดอกเบี้ยอ้างอิง ว่าเป็น MLR, MOR หรือ MRR ซึ่งโดยปกติอัตรา MLR จะจ่ายดอกเบี้ยต่ำที่สุด นอกจากนี้ ต้องมองถึงอัตราลบจากดอกเบี้ยอ้างอิง ถ้าลบเยอะ ๆ ก็จะทำให้ธุรกิจเสียดอกเบี้ยจ่ายในอัตราที่ต่ำลง

ระยะเวลา Grace Period กับการกู้เงิน

Grace Period คือ ช่วงเวลาที่ผู้กู้ยังไม่ต้องจ่ายคืนเงินต้น โดยให้จ่ายเฉพาะดอกเบี้ย ส่วนใหญ่ธนาคารจะให้ระยะเวลา Grace Period ประมาณ 1 – 2 ปี
เพื่อเป็นการลดภาระทางการเงินของกิจการในช่วงแรกของการเริ่มต้นธุรกิจ หรือเริ่มต้นโครงการเช่น ช่วยเวลาก่อสร้างอาคารโรงงาน ซึ่งยังติดตั้งเครื่องจักรและระบบต่าง ๆ ไม่เรียบร้อยและยังไม่มีการเริ่มต้นดำเนินงาน ทำให้ยังไม่สามารถหาเงินต้นมาคืนได้

Loading